โรงเพาะต้นกล้า ที่จะจำหน่ายต้นกล้าภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล โรงเพาะกล้าในประเทศไต้หวันที่อยู่ภายใต้รัฐบาลมีประมาณ 100 แห่ง รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดชนิดพืชแบ่งตามแหล่งปลูกพืช เพื่อไม่ให้แข่งขันกันระหว่างโรงเพาะกล้า ลดปัญหาการแย่งลูกค้า โดยโรงเพาะกล้าจะต้องพิจารณาในการเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม ตามปริมาณความต้องการของแต่ละพื้นที่
การที่รัฐบาลควบคุมดูแลโรงเพาะ ทำให้รัฐบาลสามารถประมาณการณ์ผลผลิตในแต่ละช่วงเวลา และเผยแพร่ข้อมูลให้เกษตรกรทราบก่อนการตัดสินใจปลูกพืช เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ
สำหรับโรงเพาะกล้าที่ศึกษาดูงานเป็นโรงเพาะกล้าพืชผักสวนครัว และพืชตระกูลแตง เช่น ฟัก มะเขือ ผักใบ มะระ เมล่อน แตงไทย พริกหยวก พริก มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ต้นกล้าทั้งหมดจะจำหน่ายภายในประเทศไต้หวัน สำหรับพืชบางชนิดจะใช้วิธีการเพาะเมล็ด พืชบางชนิดจะใช้วิธีการเสียบยอด เช่น มะระขาว เมล่อน ราคาจำหน่ายต้นกล้าที่มีการเสียบยอดจะมีราคาสูงกว่าต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด
วิธีการเสียบยอดมะระ
- ใช้ต้นพันธุ์(Stock)เป็นฟักทอง คัดเลือกต้นกล้าฟักทองที่มีใบเลี้ยงสมบูรณ์ไม่หงิกงอ นำมาเด็ดยอดออกให้หมด เหลือแต่ใบเลี้ยง
- นำเหล็กปลายแบนมาจิ้มเข้าไปกลางยอด แล้วนำยอดต้นอ่อนมะระมาตัดปลายเป็นฉลาม แล้วเสียบลงไปบนยอดฟักทอง แล้วหนีบด้วยกิ๊บ
- นำถาดไปเก็บไว้ในอุโมงค์ ที่พลางแสงด้วยแสลนดำ และปิดด้วยพลาสติกใส เมื่อผ่านไป1อาทิตย์ จะเริ่มมียอดเจริญออกมา (ถ้ามียอดของฟักทองออกมา ต้องเด็ดทิ้ง) จึงเริ่มเอาพลาสติกออก เหลือแต่แสลน
- ผ่านไปอีกหนึ่งสัปดาห์จะค่อยๆเปิดแสลนออก เพื่อให้ต้นกล้าเริ่มปรับตัวกับแสงแดดธรรมชาติ ประมาณ 2อาทิตย์(ในหน้าร้อน)จึงให้เกษตรกรนำไปปลูกได้เลย ถ้าเป็นฤดูหนาว 25วัน ก่อนนำไปขาย จะเช็คความสมบูรณ์ของรากด้วย
นอกจากนั้น ที่นี่ยังมีเครื่องจักรช่วยกรอกวัสดุปลูกลงถาด และหยอดเมล็ดลงถาดด้วย โดยสามารถช่วยทุ่นแรงงานในการเพาะได้มาก สามารถทำได้ 300ถาด ภายใน 1 ชม. ซึ่งเทียบเท่ากับแรงงานคน 10 คน