วันนี้จะได้ไปช่วยงานกวงม้าแล้ว และได้เจอลัมลูด้วย
งานของวันนี้คือการถอนหญ้าในท้องนา ก่วงม้าเตรียมรองเท้าบูธพร้อมลุยนา ถุงมือสองชั้น ชั้นนอกเป็นยางกันน้ำได้ ชั้นในเป็นผ้าเพื่อป้องกันมือเราเสียดสีกับยางจนพอง และหมวกบานๆ
อุปกรณ์ที่ก่วงม้าเตรียมไว้ให้ก็เรียกว่าครบมือมากแล้ว
พอหันไปเจอก่วงม้า ครบถ้วนยิ่งกว่า มีเสื้อแขนยาวลายดอกไว้คลุมแขน ผ้าปิดแก้ม กระเป๋าเป้น้อยๆไว้ใส่มือถือ(เอาไว้กด google translateไว้คุยกับพวกเราในแปลงนาข้าว) น้ำดื่ม เป็นคุณป้าชาวนาที่เลิศจริงๆ
เรานั่งท้ายกระบะบนรถคาซู่(น้องชายก่วงม้า)ขึ้นไปบนเขาอีก
ชอบรถคาซู่มาก กระบะเปิดด้านข้างได้ ต่อเติมให้มีหลังคาและผนังรอบด้าน คือมันไม่ร้อนเลย ผนังด้านข้างก็สามารถเปิดได้หมดทุกด้านด้วย
พอไปถึงพวกเขาก็ลงไปถอนหญ้ากันเลย หญ้าทุกต้นที่แทรกอยู่ระหว่างต้นข้าว
ก่อนเราจะลุยลงไปถอนหญ้า ลัมลูเล่าว่า ข้างทางที่ขับรถขึ้นมานั่นเป็นที่ของก่วงม๊าและสามีหมดเลย ช่วงนี้ก็มีแต่งานถอนหญ้านี่แหละ เขาสองคนถอนกันมา 2 อาทิตย์ละ
แปลงของก่วงม้าใหญ่มากนะ ค่อยๆขึ้นมาตามเขา เป็นขั้นบันได
หน้าที่ของลัมลูคือการติดต่อประสานงานกับรัฐบาล หาตลาด ทำกิจกรรมโปรโมทอะไรพวกนี้มากกว่า ไม่ค่อยได้มาลงแปลงนาเองจริงๆ
ที่ทำอยู่นี่ก็ทำกันในหมู่ญาติ มีหลายๆแปลงเป็นของญาติแต่ละคน เขาอยากช่วยเรื่องตลาดให้ขายได้ จะได้พัฒนาชีวิตของคนที่นี่ แต่ข้าวที่ปลูกได้มีน้อย ไม่สามารถส่งตามตลาดใหญ่ได้ จึงเน้นขายปลีก ให้คนมาดู มาเที่ยว และซื้อกลับไป
ที่ห่อข้าวแต่ละห่อ จะมีรูปชาวนาแต่ละคนติดอยู่ เพื่อให้คนที่ซื้อรู้ว่าซื้อข้าวของใคร แล้วชาวนาเองจะมีความภูมิใจมากว่านี่เป็น My rice! เมื่อพวกเขามีความสุข เขาก็จะทำงานได้หนักขึ้น
ลัมลูกำลังทำให้ที่นี่เป็น eco-tourism ให้คนมาเห็นวิธีทำ เห็นว่าข้าวที่นี่มันปลูกยากแค่ไหน ยากกว่าที่อื่นมากๆเพราะเป็นภูเขา เครื่องจักรที่จะทุ่นแรงก็ขึ้นมายาก ทางชันและแคบ ต้องใช้แรงงานคนล้วนๆ ดังนั้นราคาของข้าวที่นี่จึงสูงกว่าข้าวที่ปลูกบนที่ราบข้างล่าง แถมทั้งหมู่บ้านนี้ปลูกข้าวออแกนิกทั้งหมด ไม่ใช้ยาสไม่ใช้สารเคมี ความยากจึงเพิ่มขึ้นเข้าไปใหญ่
ซึ่งเราก็เห็นอยู่ตรงหน้านี่แหละ แถมได้ลงไปช่วยเขาทำด้วย หรือว่าไปช่วยทำให้ยากขึ้นก็ไม่รู้
งานของก่วงม๊า เราและน้องเปิ้ล ก็คือก้มหน้าก้มตาถอนหญ้าทีละต้นๆ แล้วขยุ้มๆฝังไว้ในโคลน ให้เป็นปุ๋ยในดินต่อไป
ส่วนชัย หายไปแล้ว แบกเครื่องตัดหญ้าเดินขึ้นเขาไปไหนละไม่รู้ ชัย,ลัมลู และคาซู่ต้องไปตัดหญ้าริมทางน้ำให้สะอาด คนในหมู่บ้านสร้างทางให้น้ำจากเขาไหลลงมาใช้ในการเพาะปลูก แล้วแต่ละคนก็แบ่งหน้าที่กันดูแลทางน้้นกันคนละช่วงๆ เช่น ช่วงบนสุดเป็นของคาซู่ ต่ำลงมาเป็นของก่วงม๊า และลงมาอีก็เป็นคนของอื่นๆต่อไป ที่ว่าดูแลก็คือ คอยตัดหญ้าไม่ให้มันรก ไม่ให้เป็นที่สะสมของโรคและแมลง ถ้าน้ำสกปรกก็ส่งผลเสียต่อไร่นาของเขานั้นเอง
ชอบอ่ะ ชอบตรงที่แบ่งหน้าที่กันดูแล เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
วันนี้นับว่าโดนแดดร้อนสุดๆนานสุดตั้งแต่มาถึงไต้หวันเลย
เราเดินไปถอนกลางๆนาไม่ได้ เท้าจมดินตลอด และไม่มีสกิลในการดึงเท้าออกมาด้วย มีครั้งนึงกระชากเท้าขึ้นมาได้ แต่รองเท้าบุธติดอยู่ที่เดิม ทุลักทุเลพอสมควร กว่าจะหลุดพ้นมาได้ก็เซไปมา เหยียบต้นข้าวรอบๆไป 4-5ต้น เกือบล้มลงไปได้ด้วย กลัวข้าวก่วงม้าจะเสียหายไปมากกว่านี้ เราเลยถอนตามริมๆ มีคันดินให้เกาะเวลาจะเซ
ถอนหญ้าไปก็บี้ไข่ของหอยเชอรี่ไปด้วย ลัมลูบอกว่าพอมันโต มันจะทำลายข้าวตายหมดเลย
กลุ่มไข่ก้อนนึงมีเป็นหลายสิบฟองเลย แล้วเจอร้อยๆพันๆกลุ่มเต็มไปหมด นี่ถ้ามันโตขึ้นมา ข้าวจะเป็นไงเนี่ย
เราบี้ไปเยอะมาก น่าจะช่วยลดปริมาณหอยไปได้หลายพันตัว
จริงๆตอนบี้ก็สลดใจเหมือนกันนะ ได้แต่แผ่เมตตา ขอให้ชาติหน้าพวกเจ้าเกิดมาเป็นคน
ถอนหญ้าไปชั่วโมงกว่าก็มานั่งพัก กินบ๊ะจ่างเพิ่มพลัง ก่วงม้าใช้กูเกิ้ลมาพูดกับเราว่า
“ข้าวของฉันป่วย”
คือตลอดเวลาที่ถอนหญ้า ก่วงม้าก็คอยสังเกตไปด้วยว่ามีอะไรผิดปกติมั้ย เราเลยถามว่า ป่วยแล้วจะแก้ยังไง
“ฉันจะถ่ายรูป ไปปรึกษารัฐบาล” แล้วก็ไปกดๆถ่ายรูป ส่งไลน์ไปปรึกษาใครซักคน ซึ่งเราคิดว่าคงเป็นเรนนั่นแหละ ให้เรนประสานงานให้ เพราะก่วงม๊าก็เป็นสมาชิกในกลุ่มปลูกข้าวของเรนเหมือนกัน
ก่วงม้าเป็นชาวนาที่ใช้เทคโนโลยีได้มีประโยชน์จริงๆ
ละก็ไปถอนต่อ ถอนไปอีกแป้บเดียวฝนก็ตก วิ่งมานั่งพักที่หน้าบ้านของใครไม่รู้ แต่ก่วงม้าก็อธิบายว่าเป็นญาติๆเขานั้นแหละ ระหว่างพักก็นั่งเด็ดกุยช่ายเพื่อใช้ทำเป็นอาหารกลางวันนี้ เป็นกุยช่ายที่ก่วงม้าปลูกไว้เองใกล้ๆนาข้าว
กลับมาอาบน้ำ รอไปกินข้าว กินจนเสร็จแล้วชัยเพิ่งกลับมา น่าจะเดินขึ้นไปตัดหญ้ากันสูงจริงๆ
เสื้อผ้าเลอะมาก ต้องเอามาซักตาก เลยถามก่วงม๊าว่าซักที่ไหนตากที่ไหน กว่าจะคุยกันเรื่องซักผ้ารู้เรื่องก็หลายนาทีเลย ฮ่าๆๆ
ตอนกินข้าวกลางวัน แม้จะเป็นกลางวันแสกๆ ก็ยังคงดื่มเหล่าและนั่งคุยกันอยู่ดี
ลัมลูบอกว่า “พวกเราใช้เวลากินข้าว 2 ชม. อย่างงี้ทุกวัน” โอ้วววว
แม้เราจะพูดอะไรกันได้ไม่เยอะ ได้แค่ห่าวซือ(อร่อย) ห่าวหวาน(สนุก) สื่อสารกันได้ด้วยคำศัพท์ที่จำกัด แต่ก็ไม่เบื่อเลยนะ
กินเสร็จกลับมานอนในห้อง นอนก่ายหน้าผากแล้วคิด…
ตอนนี้รู้สึกเหนื่อยมาก มะกี้ก็ถอนหญ้าไปประมาณ 2 ชม.เอง งงมาที่ตัวเองเพลียขนาดนี้
ทำไรนิดหน่อยก้อเหนื่อย มะกี้อาบน้ำยังเหนื่อยเลย
หรือเป็นเพราะเราทำอะไรมาเยอะติดๆกันแบบไม่ได้พักมาหลายวันแล้ว
แต่ก็พักระหว่างวันนี่นา นอนก็นอนพอทุกวัน
นี่กำลังนั่งรำลึกความหลังอยู่ ว่าผ่านมา 5-6วันนี้ มันเกิดอะไรขึ้นมาก
ตอนนี้บ่าย 2 เราออกไปทำงานอีกทีน่าจะประมาณ 4 โมง ไปปลูกผัก
มีเวลาเหลือเฟือในการนอนเอาแรง แต่ก็ตีกับตัวเองในใจว่าจะนอนหรือมานั่งพิมพ์บันทึกเรื่องราวดี
ร่างกายก็เมื่อยไปทั้งตัว แต่ใจก็คิดว่านั่งทำไปเฉยๆก็ไม่น่าจะเหนื่อยอะไร
ร้อนๆและเพลียๆอย่างนี้ อยากกินของหวาน ….อยากกินชานมไข่มุกจังเลย
คิดถึงชานมไข่มุกที่พวกเพื่อนข้างล่างเคยพาไปซื้อบ่อยๆ หมินจง เรน เพจ
เจิงจูหน่ายชา….
ไม่ไหวแล้ว ยอมแพ้ ไปนอนดีกว่า
ตั้งนาฬิกาปลุกออกมาบ่าย4 ตามนัด
เดินมาถึงบ้านก่วงม้า ตกใจเจอชัยถอดเสื้อยืนทำงานนำอยู่ก่อนละ พร้อมเปิดขอใจเธอแลกเบอร์โทร เป็นเพลงประกอบด้วย
ช๊อกกว่านั้นคือ เจอเจิงจูหน่ายชา!!!! กรี๊ด สวรรค์มีตาจริงๆ
รีบกินชานมไข่มุกที่ก่วงม้าอุตส่าห์ลงจากดอยไปซื้อมาให้ เรนบอกก่วงม๊าว่าพวกเราชอบกิน
ไม่ใช่สวรรค์หรอกที่มีตา ก่วงม๊ากะเรนต่างหากที่มีตาและมีน้ำใจมากกก
ดูดชานมเสร็จสดชื่นทันที แล้วก็รีบเอาต้นกล้าผักลงปลูกในกระถางอย่างสนุกสนาน ก่วงม๊าก็ปลุกไปเต้นเพลงพี่เบิร์ดไป รู้งี้ออกมานานละ
ก่วงม้าคอยถ่ายรูปทุกกิจกรรมของพวกเราและรายงานเรนทราบ
เพิ่งรู้ว่าก่วงม้าเรียนเรนด้วยชื่อภาษาจีนคือ อิเอิ๊น (Yuen)
น่ารักอ่ะ ต่อไปนี้จะเรียกเรนว่า อิเอิ๊น….
เอาต้นกล้าลงกระถางเสร็จก็เอาไปจัดเรียงไว้ให้สวยงามตามอิสระเรา แล้วก็มานั่งพัก
นั่งคุยกันว่า คิดถึงพวกเพื่อนที่อยู่ข้างล่างเหมือนกันนะเนี่ย ละก็นึกถึงเรื่องนาข้าวของหมินจง ทันใดนั้นเอง อยู่ดีๆก็มีรถขับมาจอดหน้าบ้านก่วงม้า และหมินจงก็โผล่หน้าออกมา เฮ่ยยยย ตายยากจนน่าขนลุก
พวกเราสามคนก็วิ่งปรี่ไปต้อนรับ เหมือนได้เจอเพื่อนที่พลัดพรากและกำลังคิดถึง ทั้งๆที่เพิ่งเจอเมื่อวาน ฮ่าๆๆๆ
หมินจงพาเพื่อนมาเที่ยวบนเขา เลยแวะมาหา คุยแป้บๆก็กลับไป
กลับนั่งร้องเพลง รอเวลากินข้าว
เย็นนี้พวกเราเสนอตัวช่วยทำอาหาร ที่จริงคือเพราะอยากกินรสชาติไทยความเปนไทย
มาถึงเปิ้ลก็ใช้อุปกรณ์ต่างๆได้หมดเรย รู้ที่ทางในครัว งงมาก คนทำอาหารเป็นคงหยิบจับอะไรได้ เป็นเราคงงงว่าต้องเริ่มอะไร ใช้อันไหน
เราจะตีไข่เตรียมทำไข่เจียวละกัน ง่ายสุด
เปิ้ลไปผัดผัก มีการใส่พริก กระเทียม แค่นี้ก็เริ่มมีกลิ่นจัดจ้านความเป็นไทยขึ้นมา ปกติคนที่นี่จะเอามาผัดกะน้ำมันนิดหน่อย ไม่ปรุงไรเยอะเพื่อคงรสชาติดั้งเดิมของผักไว้
ก่วงม้าก้อทำกับข้าวอื่นๆในส่วนของเค้าไป มีเต้นๆระหว่างทำด้วย
ที่นี่ใช้น้ำธรรมชาติเลย ต่อท่อมาจากบนเขาอยู่แล้ว น้ำไหลจากก๊อกตลอด เหมือนมีใครเปิดไหลทิ้งตลอดเวลา อยากจะใช้ล้างอะไรตอนไหนก็ใช้ได้เลย แปลกดีเหมือนกัน
ถึงเวลากินข้าวเย็น วันนี้มีโอโกเก๊ะ พี่ชายลัมลูมากินด้วย
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่มาอยู่บ้านก่วงม๊า มีการร้องเพลง เปิดไฟฉายจากมือถือมาส่องไปที่คนร้อง ราวกับคอนเสิร์ต ความจริงคือเค้าปิดไฟละนั่งคุยกันมึดๆ เพื่อไม่ให้แมลงมาใกล้ๆ พอร้องเพลงก็เลยต้องร้องมึดๆ เปิดไฟฉายเพื่อถ่ายรูป
ก่วงม้าร้องเพราะมากกก เราไม่รู้ความหมายหรอก
และต่อด้วยขอใจเธอแลกเบอร์โทรอีก เพลงนี้ดังมากในไต้หวัน ก่วงม้าSearchมาร้องเองเลย
พวกเรามอบของที่ระลึก เป็นผ้าพันคอ ก่วงม้าเอามาพันแล้วร้องเทียนมีมี่ พร้อมกับเล่นกล้อง เล่นผ้า ลีลาเยอะสุดๆ สมกับกิตติศัพท์ที่ได้ยินก่อนมา
เราถามลัมลูว่า ที่นี่เรียกว่าอะไร (มาอยู่จนจะกลับละ ยังไม่รู้ชื่อสถานที่)
ลัมลูบอกว่า ชื่อ Cilimitay village และคำว่า Haramy คือชื่อข้าวของที่นี่
(ได้ยินคำนี้จากปากก่วงม๊าบ่อยมาก แต่googleมันแปลไม่ถูก)
ข้าวที่นี่ราคาสูงสุดในไต้หวัน และปลูกในที่สูงสุดด้วย !! เรามาอยู่ในที่ที่สุดยอดอีกแล้ว
พื้นที่ปลูก 3 Hectres (18.75ไร่) ปีนึงปลูก2รอบ คือมิ.ย. และ พ.ย. คนชอบซื้อเพราะสะอาด ปลูกในที่ที่อากาศสะอาด น้ำสะอาด อาจจะแพงสำหรับคนไต้หวัน แต่เค้าส่งไปขายที่ฮ่องกง ถือว่าราคานี้ไม่แพงเรย
มีบางคนในไต้หวันที่ใส่ใจในสุขภาพหน่อย ก็อยากกินข้าวของเค้าเหมือนกัน
พ่อแม่บางคนกินข้าวปกติ แต่ซื้อข้าวนี้ให้ลูกๆกิน
ลัมลูบอกว่า รายได้เค้าไม่เท่ากับการไปทำงานในเมืองหรอก แต่เค้าไม่ชอบในเมือง บางคนก็ไม่เห็นด้วยนะที่เค้ามาทำแบบนี้ แต่เค้าก็พิสูจน์ให้คนเห็นแล้วว่ามันดียังไง มีเพื่อนเค้ากลับมาบ้านที่ต่างจังหวัดและมาทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นตั้ง 6 คน
อย่างที่บอกว่าลัมลูอยากให้เป็นการท่องเที่ยว เลยต้อนรับแขกเสมอ ทั้งชาวไต้หวันและต่างชาติ มาพักอาศัยและมาทำงานแบบเรานี่แหละ และจะพาทัวร์ไปดูท้องนา และธรรมชาติแถวนี้
รู้ละ เรนจัดให้เรามาอยู่กับคนที่ทำด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรทั้งหมดเลยนะเนี่ย!!!
ลัมลู เป็น eco-tourism ส่วนเพจก็ทำบ้านเป็น farmstay
เยี่ยมเลยอ่ะ เรากำลังสนใจเรื่องนี้อยู่ด้วย อยากทำให้ที่สวนของเราเป็นแบบนี้เหมือนกัน สร้างที่พักที่อยู่ได้สะดวก แล้วให้คนมาสัมผัสประสบการณ์การเป็น Farmer
จริงๆแค่เสาร์อาทิตย์ ก็น่าจะพอแล้วสำหรับคนเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลา
จบการสนทนาห้าทุ่มกว่าเช่นเคย
ขอบคุณที่โลกนี้มี google translate ที่ทำให้เราคุยกับลุงป้าน้าอา บนดอยแห่งนี้ได้
วันนี้มีแผ่นดินไหวด้วย แบบที่คุณคังเคยบอกไว้ก่อนเรามาที่นี่ ว่าแถบนี้มีแผ่นดินไหวเรื่อยๆ
นี่คือข้อความแจ้งเตือนแผ่นดินไหว ที่ถูกส่งเข้ามายังมือถือเรา แม้มือถือของชัยที่ไม่ได้ใส่ซิม ก็ยังได้รับข้อความเตือนภัยได้เหมือนกัน
[…] Day5 ถอนหญ้าในนาข้าวบนดอย […]
LikeLike